“วิสกี้ ลิเคียวร์” : อีกหนึ่งภูมิปัญญาสก็อต
“ลิเคียวร์” หรือ ลิคเคอร์ (Liqueur) เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คนไทยดื่มกันน้อย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นพฤติกรรมการดื่ม เพราะคนไทยส่วนใหญ่ ไม่ชอบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีรสชาติหวาน ๆ
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า….ผู้ใดชื่นชอบลิเคียวร์ผู้นั้นเป็นยอดนักดื่ม….
Liqueur กำเนิดจากที่ไหน เมื่อไร ไม่มีใครทราบแน่นอน บางตำราบอกว่าหลวงพ่อวิลาโนแห่งสเปน เป็นผู้คิดค้นการทำยาดอง เพื่อนำมารักษาโรค และพัฒนามาเรื่อยๆ ที่แน่ ๆ ก็คือ Liqueur มีส่วนผสมผสานจากเหล้าต่าง ๆ เช่น บรั่นดี วิสกี้ รัม วอดก้า ยิน ฯลฯ จากนั้นเติมน้ำตาล สมุนไพร เมล็ดผลไม้ ผลไม้ ฯลฯ ปัจจุบันส่วนผสมที่มีน้ำตาลเป็นตัวนำนี้ ต้องมีในปริมาณที่เหมาะสม ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสโปรดปราน Liqueur มาก ถึงขนาดในห้องบรรทมจะมีลิเคียวร์เรียงรายอยู่นับร้อยยี่ห้อ เพราะถือว่า Liqueur เป็นยาดองสมุนไพร ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ต่างจากการดื่มแอลกอฮอล์อีกหลายชนิด
ช่วงทศวรรษ 1920 ชาวยุโรปนิยมดื่ม Liqueur หลังอาหารค่ำ บางคนถือว่าเป็นยาช่วยเจริญอาหาร พวกผู้หญิงที่ไม่กล้าดื่มบรั่นดี อย่างคอนยัคหรืออาร์มายัคหลังอาหารค่ำ เพราะถือกันว่าเป็นการไม่เหมาะสมสำหรับกุลสตรี จึงเลือกที่จะดื่มLiqueur แทน เพราะถือว่ามีส่วนช่วยบำรุงร่างกายด้วย
Liqueur เข้าไปครองตลาดอเมริกา ในยุคเครื่องดื่ม “ค็อกเทล” ได้รับความนิยม เพราะใช้เป็นส่วนผสมของค็อกเทลหลายสิบชนิด ขณะที่บาร์เทนเดอร์บางคนนำไปผสมกับเหล้าชนิดอื่น ทำเป็นค็อกเทลชนิดใหม่ ๆ หลายรูปแบบ พร้อมกับตั้งชื่อเป็นเครื่องดื่มพิเศษของสถานที่นั้น ส่วนคนที่ไม่ชอบค็อกเทลก็สั่ง Liqueur มาดื่มเพียว ๆ หรือออน เดอะ ร็อก
อย่างไรก็ตามเนื่องจาก Liqueur มีมากมาย ดังนั้นในตอนนี้จะกล่าวถึง Liqueur ที่ใช้วิสกี้เป็นเบสหรือส่วนผสมหลัก (Whisky Based Liqueurs) เรียกว่า “วิสกี้ ลิเคียวร์” ซึ่งมีอยู่หลายยี่ห้อส่วนใหญ่อยู่ในประเทศสกอตแลนด์ ดินแดนแห่งวิสกี้ แต่ที่ถือว่าสุดยอดมีไม่กี่ยี่ห้อ ดังนี้
“ดรัมบุย” (Drambuie) ได้ชื่อว่าเป็น “ราชา วิสกี้ ลิเคียวร์” ของสก็อตแลนด์และของโลก มีประวัติความเป็นมากว่า 250 ปี ตั้งแต่กษัตริย์ ชาร์ล เอ็ดเวิร์ด (Prince Charles Edward) หรือสจ๊วร์ต บอนนี พริ๊นซ์ ชาลี (Stuart Bonnie Prince Charlie) แห่งสกอตแลนด์ยกทัพไปทวงอิสรภาพจากอังกฤษ ปรากฏว่าไม่สำเร็จ กองทัพดินแดนวิสกี้พ่ายยับ
ชาร์ล เอ็ดเวิร์ด เองก็หวิดจะสังเวยชีวิต ดีที่ได้ร้อยเอก จอห์น แม็คคินนอน (John Mackinnon) องครักษ์ฝีมือดีช่วยชีวิตไว้ เพื่อเป็นการตอบแทนจึงพระราชทานสูตรลับการผลิต Liqueur ให้ และตระกูลแม็คคินนอนก็ใช้สูตรนี้กลั่นเหล้าเองเป็นเวลาเกือบ 150 ปี จนถึงปี 1906 ทายาทรุ่นที่ 4 มัลคอม แม็คคินนอน (Malcolm Mackinnon) จึงคิดค้นและผลิตเหล้าหวานออกขายภายใต้ชื่อ Drambuie
อย่างไรก็ตามมีบันทึกว่า Drambuie ถูกผลิตขายอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1910 โดยผลิตเพียง 12 ลังเท่านั้น ปี 2009 มีการวางตลาดรุ่น The Royal Legacy of 1745 ในฐานะมอลต์ วิสกี้ ลิเคียวร์ แอลกอฮอล์ 40 % ก่อนจะคว้ารางวัล the Drinks International Travel Retail Award for Best Travel Retail Drinks ในงาน TFWA, ในเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนตุลาคม 2009 นั่นเอง เมื่อมีการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ในปี 2010 จึงมีการเปลี่ยนสีและรูปทรงขวดให้สามารถมองเห็นน้ำข้างใน รวมทั้งฉลากที่มีรูปตัว DD 2 ตัวเกี่ยวร้อยกัน
ส่วนผสมหลักที่มัลคอม แม็คคินนอน คิดค้นดังกล่าวคือสก็อต วิสกี้ น้ำผึ้ง สมุนไพร และอีกหลายอย่างที่ถือเป็น “สูตรลับ” พร้อมกับขายอย่างเป็นทางการในปี 1909 ที่สำคัญมีเรื่องเล่าว่าสูตรลับการผลิต Drambuie นี้ ถูกถ่ายทอดให้เฉพาะผู้หญิงในตระกูลเท่านั้น และพวกเธอก็ไม่เคยบอกสามีเลย
โรงกลั่น Drambuie อยู่ชานเมืองเอดินเบิร์ก (Edinburgh) ปัจจุบันนายมัลคอม แม็คคินนอน จูเนียร์ (Malcolm Mackinnon Junior) ทายาทรุ่นที่ 5 เป็นผู้แลกิจการของบริษัท ซึ่งแม้จะมีสินค้าเพียงตัวเดียว แต่ก็ทำให้เขามีความร่ำรวยติดอันดับมหาเศรษฐีของโลก
Drambuie จัดเป็น Liqueur อันดับต้นๆ ของโลก และเป็นส่วนผสมสำคัญของ “รัสตี้ เนล” (Rusty Nail) ค็อกเทลยอดนิยมของโลก โดยใช้ Drambuie ผสมสก็อตวิสกี้ เหยาะซอสทาบาสโก (Tabassco) เล็กน้อยเพื่อตัดหวาน ใครที่เคยเข้าไปในผับในสหราชอาณาจักร หลังจากพวกฝรั่งดื่มเบียร์กันจนเปรมแล้ว มักจะสั่ง Rusty Nail มาตบท้าย ส่วนจะกลับถึงบ้านหรือไม่ คุณแม่บ้านเท่านั้นที่จะตอบได้
ยี่ห้อต่อมา “เกลย์วา” (Glayva) รสชาติหวานน้อยกว่า Drambuie นิดหน่อย ผสมผสานจากสมุนไพรประมาณ 26 ชนิด ผลไม้ และสไปซี่ แม้ชื่อเสียงอาจจะเป็นรอง Drambuie แต่รสชาติและความแคลซสิคไม่เป็นรองมากนัก บางคนอาจจะชอบตัวนี้มากกว่าด้วยซ้ำไป
Glayva สีเหลืองอำพัน ใส คล้าย ๆ กับมอลต์ วิสกี้ กลิ่นผสมกลมกลืนระหว่างสก็อต วิสกี้ น้ำผึ้ง สมุนไพร ยี่หร่า กานพลู ซีทรัส อัลมอนด์ และสไปซี่ ส่วนรสชาติหนักแน่น ฟูลบอดี้ หวานนิด ๆ มีกลิ่นวิสกี้ ส้ม และสมุนไพร แอลกอฮอล์ 35 %
โรนัลด์ มอร์ริสัน (Ronald Morrison) จากครอบครัวเจ้าของโรงกลั่นวิสกี้ และเจ้าของร้านขายเหล้าริมท่าเรือเมือง Leith ใกล้ ๆ กับเอดินเบิร์ก (Edinburgh) เป็นผู้คิดค้นสูตร Glayva หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงประมาณปีเศษ ๆ ร่วมกับเพื่อนจอร์จ เพทรี (George Petrie)
จากการที่มีโรงกลั่นวิสกี้ เป็นเจ้าของร้านขายเหล้าริมท่าเรือ เห็นเรือขนส่งสินค้าจากต่างชาติเข้ามาทุกวี่วัน โรนัลด์ มอร์ริสัน มองเห็นช่องทางในการทำลิเคียวร์ตัวใหม่ เขาได้ส้มจากสเปน ได้สมุนไพรจากอินเดียและแคริบเบียน นำมาผสานกับวิสกี้คุณภาพดี แล้วตั้งชื่อว่า “Glayva” มาจากคำว่า gle mhath ในภาษาแกลิค (Gaelic) แปลว่า “ดีมาก” (very good)
ปัจจุบัน Glayva บริหารงานโดยบริษัท Whyte and Mackay Ltd. พร้อมกับสโลแกน ‘best liqueur in the world’ เคยได้รับเหรียญทอง ในงาน International Wine and Spirits Competition ปี 1999 และ 2000. สามารถดื่มได้หลากหลายวิธี โดยเฉพาะเป็นส่วนผสมค็อกเทล แต่ที่นิยมกันคือใส่น้ำแข็งเหมือนวิสกี้